2426 จำนวนผู้เข้าชม |
เคยรู้สึกเหมือนสมองติดๆขัดๆบ้างไหม ?
ขี้ลืม อ่านเท่าไหร่ก็ไม่เข้าหัว ฟังอะไรก็ไม่เข้าใจ คิดไอเดียใหม่ๆไม่ได้ อยู่ดีๆ หัวตื้อนึกไม่ออกว่าจะพูดอะไร นี่คือสัญญาณเตือนว่าสมองเริ่มแก่ และกำลังเสื่อมถอยรอวันผุพัง
อาการแบบนี้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยกลางคนไปจนถึงวัยเกษียณ และถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่แก้ไข สุดท้ายก็อาจนำไปสู่โรคสมองเสื่อมอันน่าสะพรึงกลัวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมประสาทและสมองของญี่ปุ่น “นพ.ซุกิยะมะ ทะคะชิ” แนะวิธีป้องกันโรคสมองเสื่อมแบบง่ายๆ แต่ได้ผลเกินร้อย ไปดูกันเลยค่ะ ว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีวิธีจัดการกับอาการเหล่านี้ได้อย่างไร
จัดจังหวะชีวิตใหม่ ให้เป็นระเบียบ
ถ้าไม่อยากให้สมองแก่สมองเสื่อม ต้องคอยบริหารสมองให้ตื่นตัว พร้อมรับมือกับโจทย์ใหม่ๆและความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
กุญแจสำคัญที่สุดคือ “การจัดจังหวะชีวิตใหม่ให้เป็นระเบียบ” จังหวะชีวิตที่ดีต่อสมองที่สุดคือ การตื่นแต่เช้าขึ้นมาอาบแสงแดดอ่อนๆ เป็นประจำทุกวัน ตั้งใจทำงานเต็มที่ในตอนที่หัวแล่นสมองปลอด โปร่ง และเข้านอนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากทำแบบนี้ทุกวันจนเป็นกิจวัตรแล้ว สมองของเราก็จะตื่นตัวและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เสื่อมถอยก่อนวัย
เรื่องนี้คุณหมออธิบายเพิ่มเติมว่า ปกติสมองจะมีช่วงพักและช่วงทำงานสลับกันไป จังหวะชีวิตที่เป็นระเบียบจะทำให้สมองพักและทำงานเป็นเวลา มีความกระฉับกระเฉงตื่นตัว เราจึงรู้ว่าช่วงเวลาไหนที่ สมองแล่น เหมาะจะคิดงานยากๆ ที่มีความสลับซับซ้อน ตรงกันข้ามกับคนที่มีจังหวะชีวิตไม่เป็นระเบียบ สมองพักและทำงานไม่เป็นเวลา เพราะเจ้าของสมองใช้ชีวิตตามอำเภอใจ ตื่นสายนอนดึกเข้านอนไม่เป็นเวลา สมองของคนพวกนี้จะขี้เกียจและเฉื่อยชา ตอบสนองสิ่งรอบตัวได้ช้า ยิ่งมีอาการสมองตื้อ เพราะพยายามใช้มันทำงานตอนที่อยากพักสมองก็จะยิ่งแสดงอาการเหนื่อยล้าประท้วงออกมาให้เห็น
คนที่ออกจากงานมาอยู่บ้านเฉยๆ หรือเพิ่งเกษียณอายุ เมื่อกลับไปพบปะกับเพื่อนร่วมงานเก่าๆ จะมีอาการพูดจาตะกุกตะกักไม่ฉาดฉานเหมือนเดิม เพราะพวกเขาหลุดออกจากสภาพแวดล้อมที่คอยกระตุ้นให้ทำงานใช้สมอง และมีแนวโน้มจะใช้ชีวิตตามอารมณ์ความรู้สึก ดูเผินๆ ก็ไม่น่าเสียหายอะไร แต่ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านสมอง คุณหมอเตือนว่ายิ่งใช้ชีวิต แบบตามใจตัวเองมากเท่าไหร่ ปิดกั้นตัวเองจากสังคมมากเท่าไหร่ สมองก็จะยิ่งขี้เกียจและเฉื่อยชาลงมากเท่านั้น คนแก่ถึงต้องอยู่ใกล้ชิดกับลูกหลาน และต้องหางานอดิเรกทำหลังเกษียณ เพื่อไม่ให้สมองตีบตัน
อุ่นเครื่องให้สมองด้วยกิจกรรมต่างๆ
“สมองต้องการการอุ่นเครื่อง” เช่นเดียวกับการเล่นกีฬา ฉะนั้นก่อนจะคิดงานใหญ่ หรือทำอะไรยากๆ ต้องให้เวลาสมองได้อุ่นเครื่อง 2-3 ชั่วโมง โดยเทคนิคการอุ่นเครื่องสมอง เพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมอง คุณหมอแนะนำว่าให้ขยับแขนขาด้วยการเดิน, เก็บกวาดห้อง, ทำอาหาร หรือทำสวนในตอนเช้า ขณะเดียวกันก็ต้องขยับปากด้วยการพูดคุยทักทายคนรอบตัวสั้นๆ และอ่านออกเสียงดังๆ วันละ 10 นาที การอ่านออกเสียงมีประโยชน์มาก เพราะจะช่วยให้เข้าใจข้อมูล ที่เห็นและฟังได้เร็วขึ้น สามารถพูดและเขียนความคิดเห็นได้ไหลลื่นขึ้น ถ้าเปรียบกับการเล่นกีฬา การอ่านออกเสียงก็เหมือนการฝึกส่งลูกแบบง่ายๆ เพื่อเพิ่มทักษะความชำนาญ
เวลาที่เผชิญกับปัญหาสมองของเราจะรวบรวมสมาธิเพื่อตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ พร้อมรื้อค้นข้อมูลที่เก็บอยู่ในลิ้นชักความทรงจำเพื่อ เชื่อมโยงกับปัญหาตรงหน้า แล้วจัดการแก้ไขให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด คุณหมอแนะนำว่า “เคล็ดลับช่วยกระตุ้นการขับ เคลื่อนของสมอง” ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ คือการกำหนดเส้นตายให้ตัวเอง เพื่อเป็นการบังคับสมองให้ขยันขึ้น เมื่อสมองถูกกระตุ้นเป็นประจำ การขับเคลื่อนของสมองก็จะคล่องแคล่วและมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย ให้คิดเสมอว่ากำลังสอบไล่ สมองจะได้ตื่นตัวตลอดเวลา
ขอบคุณบทความดีๆ จาก ไทยรัฐ